ข้อคิด

๑. การเอาแต่ใจตนเอง อยากได้อะไรเป็นต้องได้ จากในวรรณคดีเรื่องอิเหนานั้น เราได้ข้อคิดเกี่ยวกับการเอาแต่ใจตนเอง อยากได้อะไรเป็นต้องได้ ไม่รู้จักระงับความอยากของตน หรือพอใจในสิ่งที่ตนมีแล้ว ซึ่งการกระทำเช่นนี้ทำให้เกิดปัญหามากมายตามมา และคนอื่นๆ ก็พลอยเดือดร้อนไปด้วย ดังเช่นในตอนที่อิเหนาได้เห็นนางบุษบาแล้วเกิดหลงรัก อยากได้มาเป็นมเหสีของตน กระนั้นแล้ว อิเหนาจึงหาอุบายแย่งชิงนางบุษบา แม้ว่านางจะถูกยกให้จรกาแล้วก็ตาม โดยที่อิเหนาได้ปลอมเป็นจรกาไปลักพาตัวบุษบา แล้วพาไปยังถ้ำทองที่ตนได้เตรียมไว้ ซึ่งการกระทำของอิเหนานั้นเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ทำให้ผู้คนเดือดร้อนไปทั่ว พิธีที่เตรียมไว้ก็ต้องล่มเพราะบุษบาหายไป อีกทั้งเมืองยังถูกเผา เกิดความเสียหายเพียงเพราะความเอาแต่ใจอยากได้บุษบาของอิเหนานั่นเอง

๒. การใช้อารมณ์ ในชีวิตของมนุษย์ทุกคนนั้น ย่อมต้องประสบพบกับเรื่องที่ทำให้เราโมโห หรือทำให้อารมณ์ไม่ดี ซึ่งเมื่อเป็นดังนั้น เราควรจะต้องรู้จักควบคุมตนเอง เพราะเมื่อเวลาเราโมโห เราจะขาดสติยั้งคิด เราอาจทำอะไรตามใจตัวเองซึ่งอาจผิดพลาด และพลอยทำให้เกิดปัญหาตามมาอีก ฉะนั้นเราจึงต้องรู้จักควบคุมอารมณ์ตนเอง และเมื่อเรามีสติแล้วจึงจะมาคิดหาวิธีแก้ปัญหาต่อไป ซึ่งภายในเรื่องอิเหนาเราจะเห็นได้จากการที่ท้าวดาหาได้ประกาศยกบุษบาให้ใครก็ตามที่มาสู่ขอ โดยจะยกให้ทันที เพราะว่าทรงกริ้วอิเหนาที่ไม่ยอมกลับมาแต่งงานกลับบุษบาตามที่ได้หมั้นหมายกันไว้ การกระทำของท้าวดาหานี้ได้ก่อให้เกิดปัญหาและความวุ่นวายหลายอย่างตามมา และท้าวดาหานั้นยังกระทำเช่นนี้โดยมิได้สนใจว่าบุตรสาวของตนจะรู้สึกเช่นไร หรือจะได้รับความสุขหรือความทุกข์หรือไม่

๓. การใช้กำลังในการแก้ปัญหา โดยปกติแล้ว เวลาที่เรามีปัญหาเราควรจะใช้เหตุผลในการแก้การปัญหานั้น ซึ่งถ้าเราใช้กำลังในการแก้ปัญหา นั้นเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งอาจจะทำให้เกิดผลเสียตามมา และอาจเป็นการทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนไปด้วย ตัวอย่างเช่น ท้าวกะหมังกุหนิงที่ได้ส่งสารมาสู่ขอบุษบาให้กับวิหยาสะกำบุตรของตน เมื่อทราบเรื่องจากท้าวดาหาว่าได้ยกบุษบาให้กับจรกาไปแล้ว ก็ยกทัพจะมาตีเมืองดาหาเพื่อแย่งชิงบุษบา ซึ่งการกระทำที่ใช้กำลังเข้าแก้ปัญหานี้ก็ให้เกิดผลเสียหลายประการ ทั้งทหารที่ต้องมาต่อสู้แล้วพากันล้มตายเป็นจำนวนมาก สูญเสียบุตรชาย และในท้ายที่สุดตนก็มาเสียชีวิต เพียงเพราะต้องการบุษบามาให้บุตรของตน

๔. การไม่รู้จักประมาณตนเอง เราทุกคนเมื่อเกิดมาแล้ว ย่อมมีในสิ่งที่แตกต่างกัน เกิดมาในสภาวะแวดล้อมที่แตกต่างกัน เราก็ควรรู้จักประมาณตนเองบ้าง ใช้ชีวิตไปกับสิ่งที่คู่ควรกับตนเอง พอใจในสิ่งที่ตนมี เราควรเอาใจเขามาใส่ใจเรา คำนึงถึงความรู้สึกของคนอื่นด้วย ถ้าเรารู้จักประมาณตนเองก็จะทำให้เราสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข ซึ่งถ้าเราไม่รู้จักประมาณตนเอง ก็อาจทำให้เราไม่มีความสุข เพราะไม่เคยสมหวังในชีวิต เช่นกับ จรกาที่เกิดมารูปชั่ว ตัวดำ อัปลักษณ์ หน้าตาน่าเกลียด จรกานั้นไม่รู้จักประมาณตนเอง ใฝ่สูง อยากได้คู่ครองที่สวยโสภา ซึ่งก็คือบุษบา เมื่อจรกามาขอบุษบา ก็ไม่ได้มีใครที่เห็นดีด้วยเลย ในท้ายที่สุด จรกาก็ต้องผิดหวัง เพราะอิเหนาเป็นบุคคลที่เหมาะสมกับบุษบาไม่ใช่จรกา

๕. การทำอะไรโดยไม่ยั้งคิด หรือคำนึงถึงผลที่จะตามมา การจะทำอะไรลงไป เราควรจะคิดทบทวนหรือ ชั่งใจเสียก่อนว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้องหรือไม่ ทำแล้วเกิดผลอะไรบ้าง แล้วผลที่เกิดขึ้นนั้นก่อความเดือดร้อนให้ผู้อื่นหรือไม่ เกิดอย่างไรบ้าง เมื่อเรารู้จักคิดทบทวนก่อนจะกระทำอะไรนั้น จะทำให้เราสามารถลดการเกิดปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น หรือสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ทันท่วงที ถ้าเราทำอะไรโดยไม่ยั้งคิด ก็มีแต่จะเกิดปัญหาตามมามากมาย เราจะเห็นตัวอย่างได้จากเรื่องอิเหนาในตอนที่อิเหนาได้ไปร่วมพิธีศพของพระอัยกีแทนพระมารดาที่เมืองหมันหยา หลังจากที่อิเหนาได้พบกับจินตะหราวาตี ก็หลงรักมากจนเป็นทุกข์ ไม่ยอมกลับบ้านเมืองของตน ไม่สนใจพระบิดาและพระมารดา ไม่สนใจว่าตนนั้นมีคู่หมั้นอยู่แล้ว ซึ่งมิได้คำนึงถึงผลที่จะตามมาจากปัญหาที่ตนได้ก่อขึ้น จากการกระทำของอิเหนาในครั้งนี้ก็ได้ทำให้เกิดปัญหาหลายอย่างตามมา

ใส่ความเห็น