ยินดีต้อนรับผู้เยี่ยมชมทุกท่าน


            วรรณคดีหรือวรรณกรรมเป็นงาน ศิลปะ รูปแบบหนึ่งซึ่งมนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อบำรุงจิตใจให้ร่าเริงแช่มชื่น และเพื่อแสดงความรู้สึกนึกคิดเมื่อมีอะไรมากระทบใจ 
            วรรณคดี เป็นศัพท์ที่หมายถึง “ งานหนังสือ ” แต่มักใช้กันอย่างมีนัยของการประเมินค่าว่า “ แต่งดี ” อยู่ด้วย วรรณคดีมีคำแปลตามศัพท์ว่า“ เรื่องราว ” ( คดี) ที่สื่อด้วยตัวหนังสือ เสียง และถ้อยคำ (วรรณ)
             คำว่า วรรณคดี ปรากฏในหนังสือไทยเป็นครั้งแรกในพระราชกฤษฎีกาตั้งวรรณคดีสโมสร ลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2457 แต่มิได้กำหนดว่าวรรณคดีคืออะไร เพียงแต่กำหนดหนังสือ 5 ประเภท คือ กวีนิพนธ์ ละครไทย นิทาน ละครพูด และอธิบาย ( essay)เป็นหนังสือที่ควรพิจารณาได้รับการยกย่อง หนังสือใดจะเป็นหนังสือดีต้องมีคุณลักษณ์ ดังนี้
– เป็นเรื่องที่ดี สาธารณชนอ่านได้โดยไม่เสียประโยชน์
– ใช้วิธีเรียบเรียงอย่างใดก็ตาม แต่ต้องให้เป็นภาษาไทยอันดี
พระยาอนุมานราชธน อธิบายเพิ่มเติมว่า
“ หนังสือที่แต่งขึ้นและเขียนตีพิมพ์เป็นเรื่องแล้วย่อมเรียกได้ว่าเป็นวรรณคดี แต่หนังสือที่วรรณคดีสโมสรยกย่องสมควรได้รับประโยชน์ คือหนังสือที่มีลักษณะตามที่กำหนดเงื่อนไขไว้ในพระราชกฤษฎีกานั้น ส่วนหนังสืออื่นๆ ซึ่งไม่เข้าอยู่ในข่ายแห่งข้อความในพระราชกฤษฎีกาก็ต้องถือว่าเป็นวรรณคดีด้วยเหมือนกัน ” ( การศึกษาวรรณคดีแง่วรรณศิลป์)